การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาควบคุมโรคในนาข้าว
4 โรคยอดฮิตในข้าว เชื้อราไตรโคเดอร์มา ช่วยได้
เชื้อราไตรโคเดอร์มาเป็นราชั้นสูงที่เจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณได้อย่างรวดเร็ว สามารถใช้ควบคุมโรคในนาข้าวได้หลายชนิด
ทำนาให้ได้ผลผลิตที่สมบูรณ์มีคุณภาพไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าจัดการเรื่องโรคและแมลงที่เป็นศัตรูของข้าวได้ ซึ่งในปัจจุบันมีสารเคมีมากมาย หลากหลายยี่ห้อ ที่ผลิตออกมาเพื่อใช้ในการควบคุมโรคในข้าว หาซื้อได้ตามร้านเกษตรเคมีภัณฑ์ทั่วไป
แต่ในบทความนี้เราจะแนะนำการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ซึ่งเป็นเชื้อราที่มีความสามารถในการควบคุมโรคพืชได้หลายชนิด ในการควบคุมลดการเกิดโรคข้าว โรคข้าวที่ไตรโคเดอร์มาจัดการได้มีโรคอะไรบ้างไปดูกันเลย
โรคข้าวที่เชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถควบคุมได้
- โรคเมล็ดด่าง อาการของโรค คือ รวงไหม้แต่ไม่เกิดแผลที่คอรวงและคอรวงไม่หัก เมล็ดบีบบางส่วน พบแผลเป็นจุดสีน้ำตาล ดำบนเมล็ด บางส่วนมีสีน้ำตาลเทา ปนชมพู เชื้อรามักทำลายในช่วงที่ดอกข้าวผสมแล้ว อยู่ในระยะน้ำนมหรือกำลังสุก อาการเมล็ดด่างจะเห็นชัด หลังจากนั้น 1 เดือน โรคจะแพร่ไปกับลม และติดไปกับเมล็ดได้
- โรคกาบใบแห้ง พบได้ตั้งแต่ระยะแตกกอ หากต้นข้าวเบียดกันแน่นโรคจะรุนแรง ลักษณะแผลจะมีสีเขียวปนเทา ขอบแผลมีสีน้ำตาลไหม้ กลางแผลมีสีน้ำตาลอ่อน มีลักษณะใบไมห้คล้ายน้ำร้อนลวกตามกาบใบใกล้ระดับน้ำ แผลจะขยายใหญ่จนมีขนาดไม่จำกัด แผลลุกลามถึงใบข้าว และกาบหุ้มรวงข้าว ทำให้ใบและกาบใบแห้ง
- โรคกล้าเน่ายุบ อาการต้นกล้าเน่าและยุบเป็นหย่อมๆ และค่อยๆขยายวงกว้าง บริเวณโคนต้นจะมีแผลช้ำ บริเวณปรายรากจะมีสีน้ำตาล ดำ หากมีความชื้นสูงจะพบเส้นใยสีขาวบริเวณโคนต้น
- โรคกาบใบเน่า ข้าวแสดงอาการในระยะตั้งท้อง เกิดแผลสีน้ำตาลบนกาบห่อรวง กลางแผลมีกลุ่มเส้นใยสีขาวอมชมพู แผลจะขยายติดต่อกันทำให้บริเวณกาบหุ้มรวงมีสีน้ำตาลดำ ทำให้รวงข้าวส่วนใหญ่โผล่ไม่พ้นกาบหุ้มรวง (แท้ง) หากรวงโผล่ได้ จะพบเมล็ดลีบและมีสีดำ และมักระบาดไปกับเมล็ดได้นาน มีไรขาวเป็นพาหะช่วยให้โรคนี้แพร่ระบาดได้รุนแรงยิ่งขึ้น
วิธีใช้ไตรโคเดอร์มาเพิ่มผลผลิตและลดโรคข้าว
แช่เมล็ดพันธุ์ข้าวก่อนปลูก ควรคัดเมล็ดพันธุ์ที่ไม่สมบูรณ์ออกจากเมล็ดพันธุ์ดีเสียก่อน โดยน้ำเมล็ดพันธุ์ข้าวแช่ในน้ำเกลือ แล้วแยกเอาเมล็ดพันธุ์ที่ลอยและลีบออก แล้วล้างน้ำเกลือออกจากเมล็ดพันธุ์ จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์ดีที่ได้ มาใส่กระสอบ แล้วนำไปแช่น้ำเปล่า หรือ ผสมน้ำหมักชีวภาพ โดยแช่ทิ้งไว้นาน 24 ชั่วโมง
หลังจากนั้นจึงนำมาผสมกับเชื้อราไตรโคเดอร์มา ดังวิธีต่อไปนี้
วิธีที่ 1 นำเมล็ดพันธุ์ข้าว (แห้ง) มาแช่ในน้ำทีผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มา อัตราเชื้อสด 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร นาน 18- 24 ชั่วโมง ก่อนบ่ม หรือ
วิธีที่ 2 แช่เมล็ดพันธุ์ข้าวในน้ำเปล่าหรือน้ำที่ผสมน้ำหมัก 1 คืน ( 24 ชั่วโมง ) แล้วจึงแช่ในน้ำเชื้อไตรโคเดอร์มา 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง บ่มข้าว 1 วัน จากนั้นให้นำเมล็ดข้าวที่งอกแล้วไปหว่าน
การใส่เชื้อราไตรโคเดอร์มาในนาข้าว
วิธีที่ 1 ใช้เชื้อสด 2 กิโลกรัมต่อไร่ ผสมน้ำแล้วปล่อยเข้านา
วิธีที่ 2 ใช้เชื้อสด 2 กิโลกรัมต่อไร่ คลุกเคล้ากับปุ๋ยแล้วหว่านไปพร้อมกัน
การฉีดพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์มาในนาข้าว เตรียมน้ำผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มาในอัตรา เชื้อสด 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร ให้กรองเอาน้ำเชื้อไปใช้พ่นในนาข้าวอย่างน้อย 3 ครั้งในระยะต่างๆดังนี้
ฉีดพ่นครั้งที่ 1 ในระยะข้าวตั้งท้อง
ฉีดพ่นครั้งที่ 2 ในระยะข้าว ออกรวงได้ 5-10 เปอร์เซ็นต์
ฉีดพ่นครั้งที่ 3 ระยะข้าวเริ่มเข้าสู่ระยะน้ำนม
ควรฉีดพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์มาในนาข้าว อย่างน้อย 3 ครั้งในระยะดังกล่าวเพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค
เพื่อให้การควบคุมโรคได้ผลมากยิ่งขึ้น ถ้าเราสามารถฉีดพ่นหรือใส่เชื้อราไตรโคเดอร์ในนาข้าวได้อย่างสม่ำเสมอ โดยสามารถผสมไปกับปุ๋ยทางใบ สารกำจัดวัชพืช อาหารเสริม หรือฮอร์โมนต่างๆ โดยผสมปุ๋ยหรือสารกำจัดวัชพืชต่างๆก่อน จากนั้นจึงผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มาลงไป และควรนำไปฉีดพ่นทันที เชื้อราไตรโคเดอร์มาที่ผสมแล้วควรใช้ให้หมด